หน่วยที่ 4 บุคคลสำคัญ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1)
พระราชประวัติ
           พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า ด้วง ประสูติในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ พระบิดามีพระนามเดิมว่า ทองดี พระมารดาชื่อ หยก เมื่อทรงมีพระชันษา ๒๑ พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ๓ เดือน เมื่อลาสิกขาก็ทรงเข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงได้รับตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตร ประจำเมืองราชบุรี พระองค์ทรงมีความชำนาญในการรบอย่างยิ่ง จึงได้รับพระราชทานปูนกำเหน็จความดีความชอบให้เลื่อนเป็นพระราชวรินทร์ พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยายมราชว่าที่สมุหนายก เจ้าพระยาจักรี และในที่สุดได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม เมื่อทรงตีได้เวียงจันทร์ พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) จากเมืองจันทน์มายังกรุงธนบุรีด้วย ต่อมาเกิดเหตุจลาจลได้สำเร็จ ข้าราชการและประชาชนจึงอัญเชิญเป็นพระมหากษัตริย์แทนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระราชกรณียกิจ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นทั้งนักปกครองและนักการทหารที่ยอดเยี่ยม ทรงแต่งตั้งให้เจ้านายที่เคยผ่านราชการทัพศึกมาทำหน้าที่ช่วยในการปกครองบ้านเมืองโปรดเกล้าฯ
- ให้ชำระกฎหมายตราสามดวง
- การชำระพระพุทธศาสนา
- การสงครามเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ โดยครั้งที่สำคัญที่สุด คือ สงครามเก้าทัพ
- พระองค์ทรงส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ ทั้งด้านวรรณกรรมที่ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการประพันธ์ โดยพระราชนิพนธ์ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ บทละครเรื่องอุณรุท บทละครเรื่องอิเหนา บทละครเรื่องดาหลัง เพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง นอกจากด้านวรรณกรรมแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังทรงส่งเสริมศิลปะด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และนาฏกรรม

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2)

พระราชประวัติ
            มีพระนามเดิมว่า ฉิม เป็นพระโอรสพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติแต่สมเด็จพระอม รินทราบรมราชินี ณ บ้านอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 เมื่อยังทรง พระเยาว์ ได้ทรงศึกษาอักขรสมัยในสำนักสมเด็จพระวนรัต (ทองอยู่) วัดบางหว้าใหญ่ ด้านวิชาการรบ สำหรับขัตติยราชกุมารนั้น พระองค์ได้ทรงศึกษาจากประสบการณ์ที่เป็นจริง กล่าวคือได้ทรงตามเสด็จ พระบรมชนกนาถไปในราชการสงครามทุกครั้ง ซึ่งพระปรีชาสามารถและความจัดเจนนี้ย่อมเป็นที่ ประจักษ์ จนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระองค์ท่านขึ้นเป็นกรมพรราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราชแทน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระ องค์ที่ 2 แห่งพระราชวงศ์จักรี เมื่อ พ.ศ. 2352
พระราชกรณียกิจ
ที่ทรงเริ่มทำเร่งด่วนครั้งแรกคือ การรวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายกันอยู่ตั้งแต่ครั้ง กรุงแตกให้อยู่ตั้งมั่นเพื่อความเป็นปึกแผ่นของประเทศ โดยออกพระราชกำหนดสักเลข และ ทำทะเบียนราษฎรอย่างจริงจัง และได้ทรงผ่อนผันการเข้าเดือนเหลือเพียงปีละ 3 เดือน คือ เข้าเดือนออก สามเดือน นอกจากนี้ยังได้ทรงออกกฎหมายฉบับสำคัญอีกฉบับหนึ่งเรียกว่า พระราชกำหนดเรื่องห้าม สูบฝิ่น ขายฝิ่น ในการทำนุบำรุงความเจริญของบ้านเมืองก็มีการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ และได้มีการแต่ง สำเภาไปค้าขายยังเมืองต่างๆ และเมืองจีนมากขึ้น ทำให้การเศรษฐกิจของชาติดีขึ้นมาก และเหตุที่มีการ แต่งเรือสำเภาไปค้าขายต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เป็นผลให้เกิดการใช้ธงประจำชาติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำสัญญลักษณ์ช้างเผือกสำคัญที่ได้มาสู่พระบารมี 3 เชือก ประทับลงบนธงสีแดง ธงประจำชาติไทยจึงมีขึ้นเป็นครั้งแรก ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงทำนุบำรุง ตลอดจนทรงเป็นกษัตริย์ศิลปินโดยแท้จริง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3)

พระราชประวัติ
            มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าทับ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2330 ต่อมาได้รับ สถาปนาพระอิสริยยศ เป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระองค์ทรงเริ่มปฏิบัติราชการมาตั้งแต่ สมเด็จพระบรมชนกนาถ ยังดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้ปฏิบัตพระราชกรณียกิจ ต่างพระเนตรพระกรรณหลายประการ
พระราชกรณียกิจ
ทรงบำเพ็ญในรัชกาลที่ 2 ได้แก่ ราชการในกรมท่าซึ่งมีหน้าที่ด้านการค้าและสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ เงินผลประโยชน์ จากการค้าสำเภาของพระองค์ครั้งนี้ ต่อมาได้นำมาใช้ในภาวะคับขันของบ้านเมือง ด้านการป้องกันพระนคร ได้ทรงเป็นแม่กองอำนวยการสร้างป้อมปราการ ด้านชายทะเลตะวันออก และเป็นแม่ทัพยกไปตีขัดตาทัพพม่า ที่ตำบลปากแพรก เมืองกาญจนบุรี เป็นเวลา 1 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเสวยสิริราชสมบัติใน พ.ศ. 2367 ทรงทำนุบำรุง ประเทศให้เจริญรุ่งเรืองทุกด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ โปรดให้ปรับปรุงการค้าขายกับต่างประเทศ และ ระเบียบวิธีการเก็บภาษีอากรต่างๆ ด้านความมั่นคง โปรดให้สร้างป้อมปราการตามหัวเมืองสำคัญและ ตามชายฝั่งทะเล ตลอดจนต่อเรือรบเรือกำปั่นไว้ใช้ในราชการเป็นจำนวนมาก โปรดให้มีการปราบปราม ผู้ก่อความไม่สงบต่อแผ่นดินอย่างเด็ดขาด เป็นต้นว่า การปราบปรามเวียงจันทน์ ญวน และหัวเมืองปักษ์ ใต้ ทั้งยังทรงยกฐานะหมู่บ้านต่างๆ ขึ้นเป็นเมืองเพื่อขยายความเจริญในการปกครอง ด้านศาสนา ทรง บำเพ็ญพระราชกุศลเป็นนิจ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามเป็นจำนวนมาก โปรดให้มีการสอนพระ ปริยัติธรรมแก่พระภิกษุ และโปรดให้จารึกสรรพตำราต่างๆ 8 หมวดบนแผ่นศิลา ประดับไว้ ณ ศาลาราย ในวัดพระเชตุพนฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน เสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ด้าน วรรณกรรมนั้นทรงเป็นกวีด้วยพระองค์เอง และทรงส่งเสริมผู้มีความรู้ด้านนี้ ส่วนงาน ด้านศิลปกรรม นับ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสร้าง บูรณะปฏิสังขรณ์พระอาราม มีผู้กล่าวว่า ลักษณะศิลปกรรมในรัชกาลที่ 3 เป็นแบบที่งดงามยิ่ง เพราะหลังจากนี้ศิลปกรรมไทยรับอิทธิพลศิลปตะวันตกมากเกินไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงสิริราชสมบัติได้ 26 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระชนมายุ 63 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4)
                                 พระราชประวัติ
 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ กับกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๔๗ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะเสด็จสวรรคตนั้น พระองค์มิได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่เจ้านายพระองค์ใด ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จึงปรึกษายกราชสมบัติให้แก่พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ฝ่ายเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชตามราชประเพณีก่อนพระราชบิดาสวรรคตไม่กี่วัน จึงได้ดำรงอยู่ในสมณเพศต่อไปถึง ๒๖ พรรษา ทำให้พระองค์มีเวลาทรงศึกษาวิชาการต่างๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ เป็นเหตุให้ทรงทราบเหตุการณ์โลกภายนอกอย่างกระจ่างแจ้ง ทั้งยังได้เสด็จธุดงค์จาริกไปนมัสการปูชนียสถานตามหัวเมืองห่างไกล ที่ทำให้ทรงทราบสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นอย่างดี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จึงมีมติให้อัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์สมบัติ ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔ ขณะที่มีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา
พระราชภารกิจที่สำคัญ
- การทำสนธิสัญญากับอังกฤษ เพื่อแลกกับเอกราชของประเทศ ยอมให้ตั้งสถานกงสุลและมีสิทธิสภาพนอกราชอาณาเขต ยอมเลิกระบบการค้าผูกขาดเป็นการค้าเสรี เก็บภาษีขาเข้าในอัตราร้อยชักสาม
- ทรงปรับปรุงการรักษาความมั่นคงของประเทศ มีการตั้งข้าหลวงปักปันพระราชอาณาเขตชายแดนด้านตะวันตกร่วมกับอังกฤษ ทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวยุโรปมาสำรวจทำแผนที่พระราชอาณาเขตชายแดนด้านตะวันออก จ้างนายทหารยุโรปมาฝึกสอนวิชาทหารแบบใหม่ ทรงให้ต่อเรือกลไฟขึ้นใช้หลายลำและผลจากการทำสัญญากับอังกฤษทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองมาก
- ได้มีการขุดคลองและสร้างถนนขึ้นมากมาย เช่น คลองผดุงกรุงเกษม คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร
- ได้เกิดกิจการแบบตะวันตกขึ้นหลายอย่าง เช่น ใช้รถม้าเดินทาง มีตึกแบบฝรั่ง มีโรงสีไฟ โรงเลื่อยจักร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรับชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการ ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา ตั้งโรงกษาปณ์ ฯลฯ
- พระองค์ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทรงยอมรับวิชาการทางตะวันตกมาใช้ เช่น การถ่ายรูป การก่อสร้าง และงานเครื่องจักร เป็นต้น ทั้งยังทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านดาราศาสตร์ คือ ทรงคำนวณเวลาเกิดสุริยุปราคาหมดดวงในประเทศไทย ที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้ว่าจะเกิดขึ้นวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เวลา ๑๐.๓๒ นาฬิกา เวลาดวงอาทิตย์มืดเต็มดวง คือ ๖ นาที ๔๖ วินาที และเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นจริงตามที่ทรงคำนวณไว้ทุกประการ


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5)
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ทรงเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ เสวยราชย์เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ พรรษา โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จนถึง พ.ศ.๒๔๑๖ ทรงบรรลุนิติภาวะ พระชนมพรรษาครบ ๒๐ พรรษา จึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ทรงครองราชสมบัติยาวนานถึง ๔๒ ปี สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓
พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
การปกครอง
ทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ตามอย่างตะวันตก แยกการปกครองออกเป็น 3ส่วน คือการปกครองส่วนกลาง แบ่งเป็นกระทรวงต่างๆ การปกครองส่วนภูมิภาคโดยระบบเทศาภิบาลและการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาล กฎหมายและการศาล
ให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบศาลยุติธรรม เป็นการแยกอำนาจตุลาการออกจากฝ่ายบริหารเป็นครั้งแรก ยกเลิกจารีตนครบาล ที่ใช้วิธีโหดร้ายทารุณในการไต่สวนคดีความ ตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น และประกาศใช้ประมวลกฎหมายลักษณะอาญาอันเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย การปรับปรุงกฎหมายและการศาลนี้เป็นลู่ทางที่ทำให้ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ในภายหลัง
สังคมและวัฒนธรรม
ทรงยกเลิกระบบทาสและระบบไพร่ ให้ประชาชนมีอิสระในการดำรงชีวิต ยกเลิกประเพณีที่ล้าสมัย และรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา
การเงิน การธนาคารและการคลัง
ผลจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทำให้เศรษฐกิจการค้าขยายตัว มีชาวต่างประเทศเข้ามาทำกิจการในประเทศไทยมากขึ้น รัชกาลที่ ๕ จึงให้ออกใช้ธนบัตรและมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอนเป็นครั้งแรก ทรงอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ของต่างประเทศเข้ามาตั้งสาขาและสนับสนุนให้คนไทยตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้น ในด้านการคลัง มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นครั้งแรก และปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพขึ้น
สาธารณูปโภค
ทรงให้สร้างถนนเพิ่มเติม ขุดคลองใหม่และลอกคลองเดิม เพื่อใช้ในการคมนาคมและขยายพื้นที่เพาะปลูก ทรงริเริ่มให้จัดกิจการสาธารณูปโภคหลายอย่างขึ้นเป็นครั้งแรก เช่น รถไฟ รถราง โทรเลข ไปรษณีย์ โทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา การแพทย์และการสาธารณสุข ทรงปรับปรุงกิจการด้านนี้ให้เป็นแบบสมัยใหม่ เช่น ตั้งโรงพยาบาลวังหลัง (ศิริราช) สภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย) กรมสุขาภิบาล โรงเรียนสอนแพทย์ โรงเรียนผดุงครรภ์และพยาบาล เป็นต้น
                                การศึกษา
มีการสร้างโรงเรียนหลวง เพื่อให้การศึกษาแก่ราษฎรและทรงส่งพระราชโอรสและพระบรมวงศานุวงศ์ไปศึกษาต่างประเทศ จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาก็เพื่อฝึกคนให้มีความรู้สำหรับเข้ารับราชการ
                               การศาสนา
โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ จัดตั้งสถานศึกษาสงฆ์ คือ มหามกุฏราชวิทยาลัย และให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก
                                การทหาร
ทรงปรับปรุงหน่วยทหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ให้ทันสมัย ตั้งกรมยุทธนาธิการซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นกระทรวงกลาโหม ตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนนายเรือ และตราพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารขึ้นใช้เป็นครั้งแรก ในการปรับปรุงพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เนื่องจากในขณะนั้นคนไทยมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิทยาการสมัยใหม่ยังมีน้อย รัชกาลที่ ๕ จึงต้องทรงจ้างชาวต่างประเทศเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและรับราชการเป็นจำนวนมาก ส่งวนใหญ่เป็นชาวตะวันตก เช่น อังกฤษ อเมริกัน เยอรมัน ฝรั่งเศส เบลเยียม เดนมาร์ก ที่เป็นชาวตะวันออกก็มีอยู่บ้าง เช่น ญี่ปุ่น ลังกา ปรากฏว่าชาวต่างประเทศที่จ้างมาทำงานได้ผลดีสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก บางคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นถึงพระยา เจ้าพระยานอกจากนี้รัชกาลที่ 5 ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ โดยได้เสด็จประพาสสิงคโปร์ของอังกฤษและเกาะชวาอาณานิคมของฮอลันดา ต่อมาเสด็จประพาสอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทรงนำความเจริญของดินแดนเหล่านี้มาประกอบในการพัฒนาประเทศไทย
ใน พ.ศ.๒๔๔๐ รัชกาลที่ ๑ เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ กว่า ๑๐ ประเทศ เป็นผลดีต่อฐานะของประเทศไทยในสังคมระหว่างประเทศ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๔๙ ๒ -๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งที่ ๒ เพื่อเยี่ยมพระราชโอรสที่ศึกษาอยู่ในประเทศต่างๆ และรักษาพระองค์ตามที่แพทย์ถวายคำแนะนำ ในโอกาสเดียวกันทรงได้เจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองกับประเทศต่าง ๆ ด้วย แม้ว่ารัชกาลที่ ๕ จะทรงพัฒนาประเทศทุก ๆ ด้าน และพยายามผูกมิตรกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ แต่ประเทศไทยก็ยังไม่อาจรอดพ้นภัยจากลัทธิล่าอาณานิคมโดยสิ้นเชิง ดังเช่นเกิดพิพาทกับฝรั่งเศสจนถึงขั้นปะทะกันที่ปากน้ำ สมุทรปราการ ซึ่งเรียกว่าเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖)เป็นต้น รัชกาลที่ ๕ ต้องทรงยอมเสียดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษ เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้ ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยและประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง จึงทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า พระปิยมหาราช อันหมายถึงว่า ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย และในโอกาสครบรอบ ๑๕๐ พรรษาแห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๖ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO)ได้ประกาศยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญและมีผลงานดีเด่นของโลกทางสาขาการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา การพัฒนาสังคมและสื่อสาร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6)

พระราชประวัติ
ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ทรงศึกษาภาษาไทยอย่างแตกฉาน แล้วจึงเสด็จไปศึกษาวิชาทหาร ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2436 ขณะทรงมีพระชนม์พรรษาเพียง 14 ปี ต่อมาทรงเข้าศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ์ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด (Oxford) เสด็จนิวัติคืนสู่ประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2445 รวมเวลาประทับ ณ ประเทศอังกฤษถึง 9 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จครองราชย์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สวรรคต เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมสิริราชสมบัติ 16 ปี
พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินนโยบายการปกครองสืบต่อจาก สมเด็จพระบรมชนกนาถ ในรัชสมัยของพระองค์ การศึกษาของชาติเจริญก้าวหน้ามาก ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย การพระศาสนาเจริญสูงขึ้น ทรงทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม และขยายการศึกษาของสงฆ์ให้กว้างขวาง การคมนาคม เช่น การรถไฟ สะดวกสบายขึ้นมาก ทรงดำเนินนโยบายต่างประเทศได้ อย่างถูกต้อง เห็นการณ์ไกล โดยทรงนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งทหารเข้าช่วยฝ่ายสัมพันธ มิตรรบในสมรภูมิยุโรป ทำให้นานาชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้น และยังทำให้ประเทศได้รับผลประโยชน์ ด้านต่างๆ ในฐานะประเทศชนะสงคราม พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งก็คือ ทรงบำรุงกำลังรบและปลุกใจ พลเมืองให้รักชาติ ทรงวางระเบียบแบบแผนการทหารแบบยุโรป ทรงจัดตั้งกองทัพอากาศเพิ่มขึ้นอีก กองทัพหนึ่ง ทรงจัดตั้งกองเสือป่าและกองลูกเสือเพื่อปลุกใจพลเมืองให้รักชาติ นอกจากจะทรงเป็นนักการปกครองที่เล็งเห็นการณ์ไกลแล้ว ยังทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งในเชิงอักษรศาสตร์ ดังจะเห็นได้ จากพระราชนิพนธ์คำประพันธ์ทุกชนิดในทุกด้าน เช่น ปลุกใจเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร โคลงสยามานุสติ เป็นต้น รวมเป็นพระราชนิพนธ์เกินกว่า 200 เรื่อง สมดังที่มหาชนชาวไทยถวายพระนามว่า “พระมหาธีรราชเจ้า” เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบว่าราษฎรเบื่อหน่ายการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็โปรดให้สร้างบ้านเมืองจำลองขึ้นเรียกว่า “ดุสิตธานี” เพื่อเป็นโรงเรียนสอน เสนาบดีและอำมาตย์ราชบริพารให้รู้จักการปกครองแบบประชาธิปไตย ทรงโปรดให้กระทรวงมหาดไทย เตรียมร่างกฎหมายปกครองท้องที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเริ่มการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาลอย่าง แท้จริง แต่เสนาบดีบางท่านเห็นว่ากฎหมายนี้ให้สิทธิแก่ราษฎรกว้างขวางเกินไป เรื่องจึงค้างพิจารณา จน กระทั่งเสด็จสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7)

พระราชประวัติ
ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้าย ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 พระนามเดิม “สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์” พระนามทั่วไปเรียกว่า “ทูล กระหม่อมเอียดน้อย”
พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ
เมื่อเยาว์วัยทรงศึกษาวิชาภาษาไทย และราชประเพณีโบราณ ครั้นเจริญวัยทรงศึกษาวิชาการทหารม้าปืนใหญ่ แห่งกองทัพอังกฤษ สำเร็จการศึกษาเข้ารับราชการในกองทัพบกไทย ต่อมาได้ไปศึกษาวิชา ฝ่ายเสนาธิการ ประเทศฝรั่งเศส ทรงอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2460 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี เมื่อ พ.ศ. 2461 ทรงดำรงตำแหน่งในกองทัพบก ในรัชกาลพระ บาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2 และผู้บังคับการพิเศษทหารปืน ใหญ่ที่ 2 ระยะนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมผู้ สืบราชสมบัติต่อ ซึ่งตกแก่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นในปี พ.ศ. 2467 ทรงได้ศึกษาวิชา การปกครองบ้านเมืองและราชการแผ่นดิน ทรงศึกษาขนบธรรมเนียมและหน้าที่ราชการของพระเจ้าแผ่น ดินจากหนังสือราชการที่สำคัญในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ได้ตระหนักว่า ประชาธิปไตยในประเทศไทย เกิดขึ้นอย่างแจ่มชัดมาแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เพียงแต่ยังมิได้เป็นทางการ เท่านั้น ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พ.ศ. 2468 พระองค์ก็ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อ ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ทรงมีพระราชกรณียกิจสรุปได้ดังนี้ เศรษฐกิจ สืบเนื่องจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศทั่วโลกประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ ตกต่ำ ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนมาสู่ประเทศไทย พระองค์ได้ทรงพยายามแก้ไขการงบประมาณของประเทศให้งบดุลย์อย่างดีที่สุด โดยทรงเสียสละตัดทอนรายจ่ายส่วนพระองค์ โดยมิได้ขึ้นภาษีให้ราษฎร เดือดร้อน การศึกษา ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติทั้งส่วนรวมและส่วนพระองค์ โปรดให้สร้างหอพระสมุดสำหรับพระนคร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าศึกษาได้อย่างเสรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา เพื่อมีหน้าที่บริหารและเผยแพร่วิชาการด้านวรรณคดี โบราณคดี และศิลปกรรม ในด้านวรรณกรรม โปรด ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมใน พ.ศ. 2475 พระราชทานเงินส่วนพระองค์ เป็นรางวัลแก่ผู้แต่งหนังสือยอดเยี่ยม และให้ทุนนักเรียนไปศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศ การศาสนา ทรงปลูกฝังเยาวชนให้มีคุณธรรมดีงาม โดยยึดหลักคำสอนของราชบัณฑิตยสร้างหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก ซึ่งนับว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงสร้างหนังสือสำหรับเด็ก ส่วนการศึกษาในเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนานั้น ทรงโปรดให้สร้างหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ เรียกว่าฉบับสยามรัฐ ชุดหนึ่ง จำนวน 42 เล่ม ซึ่งใช้สืบมาจนทุกวันนี้ การสุขาภิบาลและสาธารณูปโภค โปรดให้ปรับปรุงงานสุขาภิบาลทั่วราชอาณาจักรให้ทัดเทียมอารยประเทศ ขยายการสื่อสารและการคมนาคม โปรดให้สร้างสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกใน ประเทศไทย ในส่วนกิจการรถไฟ ขยายเส้นทางรถทางทิศตะวันออกจากทางจังหวัดปราจีนบุรี จน กระทั่งถึงต่อเขตแดนเขมร ในปี พ.ศ. 2475 เป็นระยะเวลาที่กรุงเทพฯ มีอายุครบ 150 ปี ทรงจัดงานเฉลิมฉลองโดยทำนุบำรุง บูรณปฏิสังขรณ์สิ่งสำคัญอันเป็นหลักของกรุงเทพฯ หลายประการ คือ บูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯและธนบุรี เป็นการขยายเขต เมืองให้กว้างขวาง และสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้านการปกครอง ทรงมีพระราชปรารภจะพระราชทานรัฐธรรมนูญในโอกาสกรุงเทพฯ มีอายุครบ 150 ปี ในปี พ.ศ. 2475 แต่ก็มีเหตุที่ยังไม่อาจทำได้ในระยะนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่มีคณะบุคคลพระพุทธศาสนา โปรดให้คณะหนึ่งถือ โอกาสยึดอำนาจการปกครอง ขอเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน การกระทำดังกล่าวเป็น พระราชประสงค์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งพระราชหฤทัยไว้แต่แรกแล้ว จึงทรงพระราช ทานอำนาจและยินยอมให้ปกครองแบบประชาธิไตย นับเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองชาติเดียวใน โลกที่เลือดไม่นองแผ่นดิน ทรงยินยอมสละพระราชอำนาจ เป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย ทรงให้ตรวจตราตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะเป็นหลักในการปกครองอย่างถี่ถ้วน การที่พระองค์ทรง เป็นนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนี่เอง เมื่อคณะรัฐบาลบริหารงานไม่ถูกต้องตามหลักการที่วางไว้ พระองค์จึงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 รวมเวลาครองราชย์ 9 ปี พระองค์ทรงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ และเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระหทัยพิการ ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 รวม พระชนมายุ 48 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (ร.8)
 
พระราชประวัติ
ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรมบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมนี พระองค์ไม่เพียงแต่ทรงพระราชสมภพในต่างประเทศ เท่านั้น หากยังทรงต้องประทับอยู่ต่อมา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนก และพระราชชนนี เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนก ประทับทรงศึกษาวิชาแพทย์อยู่ในขณะนั้น ทรงศึกษาวิชาเบื้องต้นในประเทศไทย แล้วเสด็จไปทรงศึกษา ต่อ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทรงขึ้นครองราชยสมบัติ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 นั้น คณะรัฐบาลด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร จึงอัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์สยามินทราธิราช ขณะทรงมีพระชนมายุ 9 พรรษา โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
พระราชกรณียกิจ
ระหว่างประทับทรงศึกษาอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันท มหิดลได้เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2481 และปี พ.ศ. 2488 ถึงแม้จะทรง เป็นยุวกษัตริย์ แต่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยได้อย่างดียิ่ง ทรงโปรดที่จะ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็ง เพื่อทรง เยี่ยมประชาชนชาวจีนและอินเดียในบริเวณนั้น เป็นผลให้ความแตกแยกระหว่างประชาชนชาวไทยและจีน ซึ่งมีขึ้นก่อนหน้านั้นระงับไปได้ด้วยพระปรีชาอันสามารถ
สวรรคต
ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลประทับอยู่ในพระนคร เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยครั้งที่ 2 นั้น โดยมิได้คาดฝันพระองค์เสด็จสวรรคต เพราะถูกพระแสงปืน ณ พระแท่นบรรทมในพระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากเสวยราชสมบัติอยู่เป็น เวลา 12 ปีเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช (ร.9)

พระราชประวัติ
เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ มลรัฐแมซซาชูเซทส์ ประเทศ สหรัฐอเมริกา เป็นพระราชโอรส องค์เล็กของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม บรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อพระชนมายุได้ ๑ พรรษา ได้เสร็จ นิวัตสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ภายหลังจากที่สมเด็จพระราชบิดาเสด็จทิวงคตแล้ว ได้ เสด็จกลับไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเข้ารับการศึกษา ณ ที่นั้น เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบแทน เมื่อพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วทรงเสด็จไปศึกษาต่อในวิชานิติศาสตร์ ที่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและได้ทรงเข้าพระราชพิธี อภิเษกสมรสกับสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศ เป็น ม.ร.ว.สิริกิต์ กิติยากร พระธิดาของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และได้ประกาศ พระบรมราชโองการ สถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ได้มีพระบรมราชาภิเษก เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช มหิตลาธิเบศร์ รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อ วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงเสด็จนิวัติพระนคร ได้เสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙ แล้วเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างที่ทรงผนวช สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงบำเพ็ญ พระราชกรณียกิจเป็นเอนกประการ แผ่ไพศาลไปทั่วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศทั้งในยุโรป เอเชีย และ อเมริกา เพื่อเจริญพระราช ไมตรีอย่างกว้างขวาง ปรากฎพระเกียรติคุณอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้านในประเทศทรงเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบทที่อยู่ห่างไกล เพื่อรับ ทราบปัญหาต่าง ๆโดยตรงและได้ทรงริเริ่มโครงการตามพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นพร้อมทั้งพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถ ช่วยตนเองได้ พระราชกรณียกิจของพระองค์ ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ และในฐานะส่วนพระองค์เป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทรงเต็ม เปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆยากที่จะหาผู้เสมอเหมือน ทรงมีพระราชศรัทธาตั้งมั่น และแตกฉานใน พระศาสนาและทรงถ่ายทอดแก่พสกนิกรของพระองค์ในทุกโอกาส ดังเราจะได้พบในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ประชาชนในโอกาส ต่าง ๆ อย่างมิรู้สิ้น             

คลิกเข้าทำแบบทดสอบได้ที่นี่